ขยะหน้ากากอนามัย อีกหนึ่งปัญหาที่กำลังก่อตัวในยุคโควิด
วันที่ 29 เม.ย. 2563 เวลา 17:40 น.
ความต้องการใช้หน้ากากอนามัยที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัส ทำให้เกิดขยะพลาสติกพลาสติกจำนวนมาก สุดท้ายมันก็ไปจบที่ท้องถนนหรือทะเล
จากข้อมูลของสหภาพระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) พบว่าแต่ละปีมีขยะพลาสติกลอยไปบรรจบกันที่มหาสมุทรกว่า 8 ล้านตัน หรือคิดเป็น 80% ของขยะที่ลอยอยู่ในมหาสมุทรทั้งหมด ขณะที่มีสัตว์ทะเลและเต่ากว่า 100,000 ตัว และนกทะเลอีกกว่า 1 ล้านตัวในแต่ละปีต้องตายเพราะขยะเหล่านี้
อย่างเช่นปีที่แล้ว วาฬหัวทุยที่เกยตื้นตายที่ชายหาดเกาะแฮร์ริสของสกอตแลนด์มีขยะพลาสติก เช่น เชือก ถุงมือ ถุงพลาสติก แก้วน้ำในท้องเกือบ 100 กิโลกรัม หรือจะเป็นตัวอย่างใกล้ตัวคนไทยอย่างพะยูนน้อยมาเรียม ที่ต้องสังเวยชีวิตเพราะขยะพลาสติกเช่นกัน
เมื่อมีขยะหน้ากากอนามัยที่ใช้ป้องกันเชื้อโคโรนาไวรัสลงไปเพิ่มอีกก็เหมือนเป็นการซ้ำเติมปัญหาขยะในท้องทะเลที่มีอยู่เดิม
สัญญาณเตือนเรื่องขยะหน้ากากอนามัยเริ่มเพิ่มขึ้นในช่วงเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา เมื่อกลุ่มนักอนุรักษ์ OceansAsia โพสต์ภาพหน้ากากอนามัยราว 70 ชิ้นที่พบในระยะ 100 เมตรบนเกาะโซโคซึ่งไม่มีผู้อยู่อาศัยของฮ่องกง ระหว่างที่ทำโครงการวิจัยเกี่ยวกับขยะในท้องทะเลและไมโครพลาสติก
และหลังจากนั้นอีก 3 สัปดาห์ก็พบหน้ากากอนามัยอีกกว่า 30 ชิ้นบนเกาะเดิม และเริ่มพบบนเกาะอื่นๆ ด้วย
ในสหรัฐก็เริ่มกังวลกับปัญหาขยะที่มาจาก Covid-19 เช่นกัน มาเรีย อัลการ์รา ผู้ก่อตั้งโครงการอาสามัครเก็บขยะบนชายหาด Clean This Beach Up ในเมืองไมอามี รัฐฟลอริดา เริ่มแคมเปญ #TheGloveChallenge เพื่อให้ทุกคนร่วมกันถ่ายภาพถุงมือยางที่ทิ้งไม่ถูกที่ในช่วงที่เชื้อโคโรนาไวรัสระบาด เพื่อสร้างความตระหนักในประเด็นนี้
ปรากฏว่ามีมีคนส่งรูปถ่ายกว่า 1,200 รูปจากหลายๆ ที่ ทั้งในสหรัฐ อิตาลี สเปน เยอรมนี นิวซีแลนด์ โปรตุเกส ฝรั่งเศส
หน้ากากอนามัยหรือถุงมือยางเหล่านี้ก็ไม่ต่างจากขยะพลาสติกชิ้นอื่นๆ คือต้องใช้เวลานานกว่าจะย่อยสลาย งานวิจัยของมหาวิทยาลัยฟลอริดาเมื่อเร็วๆ นี้พบว่า เมื่อขยะพลาสติกลอยอยู่ในทะเลนานๆ จะเริ่มมีสาหร่ายและแบคทีเรียมาเกาะ ซึ่งสาหร่ายและแบคทีเรียเหล่านี้จะปล่อยกลิ่นที่เหมือนกับกลิ่นอาหารของเต่าทะเล มันจึงกินขยะพลาสติกเข้าไปโดยไม่รู้ตัว
อันที่จริงขยะพลาสติกไม่ได้ย่อยสลายแล้วสูญหายไปอย่างที่คิด มันจะถูกแสงแดดและคลื่นกัดเซาะจนแตกออกเป็นชิ้นเล็กๆ ที่เรียกว่า ไมโครพลาสติก และเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารผ่านปลาเล็กปลาน้อยที่กินไมโครพลาสติกเข้าไป
ไมโครพลาสติกเหล่านี้ไม่ได้เป็นอันตรายต่อสัตว์ทะเลเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะสุดท้ายมลพิษที่มนุษย์สร้างขึ้นมันก็วนกลับมาหาเราผ่านอาหารทะเลที่เราบริโภค
อย่างไรก็ดี ตราบใดที่ Covid-19 ยังไม่หมดไป หน้ากากอนามัยก็ยังเป็นอุปกรณ์ชิ้นสำคัญของชาวโลกต่อไป เฉพาะในประเทศไทยหากคิดเฉลี่ยว่าประชากร 60 ล้านคนใช้หน้ากากอนามัยคนละ 1 ชิ้นต่อวัน ใน 1 เดือนจะมีขยะหน้ากากอนามัยถึง 1,800 ล้านชิ้น
ทางออกของปัญหาขยะหน้ากากอนามัยก็คือการนำไปแยกทิ้งให้ถูกวิธี เนื่องจากขยะติดเชื้อจะต้องกำจัดด้วยวิธีพิเศษเท่านั้น หากคนไทยไม่ช่วยกันแยกขยะ สุดท้ายบ้านเราอาจจะมีปัญหาเหมือนกับในสหรัฐหรือฮ่องกง