คลังแบงก์รัฐโวปล่อยกู้ซอฟท์โลน์-ฉุกเฉิน หมดแล้ว
วันที่ 23 เม.ย. 2563 เวลา 15:20 น.
คลังเชื่อแบงก์รัฐ ปล่อยกู้ซอฟท์โลนและปล่อยกู้ฉุกเฉินแสนล้านหมดแล้ว
นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับผู้บริหารสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐทุกแห่ง เกี่ยวกับความคืบหน้ามาตรการเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ว่า ได้เชิญผู้บริหารแบงก์รัฐมาร่วมประชุม เพื่อรับฟัง ติดตาม การดำเนินมาตรการที่จะช่วยเหลือดูแลประชาชน ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพื่อให้การเข้าถึงของประชาชน ผู้ประกอบการได้รับอย่างเต็มที่และมากที่สุด
ทั้งนี้ ได้กำชับให้แบงก์รัฐทั้งหมดคิดล่วงหน้าว่าสิ่งที่ทำวันนี้ จำเป็นต้องมีอะไรเสริมเพิ่มเติมออกมาอีก เพราะยังไม่รู้ว่าสถานการณ์โควิดจะเป็นอย่างไรต่อไป ขอให้คิดล่วงหน้าเพิ่มเติมจากมาตรการที่ได้ออกไป จะมีอะไรเพิ่ม จะต้องทบทวนอะไร
นายอุตตม กล่าวว่า สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) วงเงิน 1.5 แสนล้านบาทที่ปล่อยผ่านธนาคารออมสิน อัตราดอกเบี้ย 0.1% และออมสินปล่อยต่อ 2% ออมสินแจ้งว่าเงินได้ออกไปหมดแล้ว ส่วนพ.ร.ก.ซอฟท์โลนวงเงิน 5 แสนล้านบาท ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีกำหนดจะให้สินเชื่อได้วันที่ 8 พ.ค. นี้ ขณะที่สินเชื่อฉุกเฉิน ที่ปล่อยผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และออมสิน แห่งละ 2 หมื่นล้านบาท รวม 4 หมื่นล้านบาท รับแจ้งว่าวงเงินสินเชื่อหมดแล้ว จะขยายหรือไม่ต้องไปพิจารณาก่อน
นอกจากนี้ ขอให้แบงก์รัฐช่วยเรื่องรายย่อยให้ครบถ้วนมากที่สุด เช่น บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ในโครงการ PGS8 วงเงิน 9 หมื่นล้านบาท ใช้ไปแล้ว 7.6 หมื่นล้านบาท โดย บสย. เสนอว่ากำลังหารือร่วมสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) จะเสนอโครงการค้ำประกัน PGS9 ได้ฝากว่า PGS9 ต้องมีเป้าหมายที่จะเสริมให้สถาบันการเงินสามารถช่วยลูกค้าได้เพิ่มขึ้น
ส่วนธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ขอให้ได้ออกมาตรการที่ครอบคลุมประชาชนมากที่สุด เพราะประชาชนประสบสภาพคล่อง ขอให้ดูแลเป็นพิเศษ ส่วน ธ.ก.ส. ในส่วนการดูแลเกษตรกรรายย่อยให้ดูแลให้ครอบคลุมและทั่วถึง เพราะผลกระทบมีกันทุกภาคส่วน ส่วนเรื่องการฟื้นฟูช่วงต่อไป ได้ให้ ธ.ก.ส. เตรียมการไว้ก่อน เพื่อให้สอดรับกับการที่รัฐบาลจะใช้เงินดูแลด้านเกษตรกร
ด้าน ธนาคารกรุงไทย มีลูกค้าฐานใหญ่มาก ได้ฝากว่าขอให้ดูเรื่องสินเชื่อซอฟท์โลน 5 แสนล้านบาทให้ครอบคลุมและชัดเจนมากที่สุด ธนาคารเพื่อการส่งออกและการนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) ให้ดูแลลูกค้าส่งออก โดยเฉพาะรายกลางและเล็ก เพราะส่งออกคงเหนื่อย ลำบาก ดังนั้นจึงต้องช่วยดูแลสภาพคล่องให้อยู่ได้ เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น เศรษฐกิจโลกฟื้นเราส่งออกได้ ผู้ส่งออกต้องมีความพร้อมที่จะเดินหน้าต่อได้ทันที
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ซอฟท์โลน 1.5 แสนล้านบาท แบ่งเป็น 4 ส่วน ส่วนแรก 55,000 ล้านบาท ปล่อยให้ธนาคารพาณิชย์ ส่วนที่ 2 วงเงิน 8 หมื่นของนอนแบงก์ มีปริมาณที่คนที่จองสิทธิ์เกินวงเงินแล้ว ส่วนอีก 10,000 ล้านบาท สำหรับสินเชื่อท่องเที่ยว ซึ่งยื่นกู้มาแล้ว 1.6 พันราย วงเงิน 8 พันล้าน แต่ก็ยังมีทยอยยื่นกู้เข้ามาจะเต็ม 1-2 เดือนนี้ เหลือ 5 พันล้านบาทปล่อยทุกกลุ่มอุตสาหกรรม จองแล้ว 6 พันล้านบาท
นายชาติชาย กล่าวว่า ในส่วนของการปล่อยกู้ฉุกเฉิน จะเริ่มให้คนมาเซ็นสัญญาได้วันที่ 7 พ.ค. นี้ และได้รับเงินวันที่ 8 พ.ค. นี้ คาดว่าจะใช้เวลา 1 เดือน เพื่อเซ็นสัญญาปล่อยกู้ให้ครบทุกรายที่ยื่นกู้มา