ตากแดดฆ่าเชื้อโคโรนาไวรัสได้จริงหรือ
วันที่ 14 เม.ย. 2563 เวลา 20:33 น.
ฟังจากปากผู้เชี่ยวชาญว่าจริงๆ แล้วแสงแดดฆ่าเชื้อโคโรนาไวรัสได้จริงหรือไม่
โพสต์ทูเดย์รวบรวมข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญที่ไขข้อข้องใจว่าแสงอาทิตย์สามารถฆ่าเชื้อโคโรนาไวรัสได้จริงหรือไม่ หลังจากทวิตเตอร์ของ วาสนา นาน่วม นักข่าวสายการเมือง ทวีตคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่า “ตากแดด ฆ่าเชื้อ!! ‘บิ๊กตู่’ แนะ ออกมาตากแดด เจอความร้อนบ้าง ฆ่าเชื้อโรคได้ อย่าอยู่แต่ในห้องแอร์”
รังสียูวีฆ่าเชื้อโคโรนาไวรัสได้ไหม
บทความเรื่อง Can you kill coronavirus with UV light? (คุณสามารถฆ่าเชื้อโคโรนาไวรัสด้วยรังสียูวีหรือไม่) ของ BBC ซึ่งเป็นการสัมภาษณ์ แดน อาร์โนลด์ จาก UV Light Technology บริษัทเครื่องมือฆ่าเชื้อในอังกฤษ ระบุว่ามีรังสียูวีชนิดเดียวที่ฆ่าเชื้อโรคได้ นั่นก็คือ ยูวีซี
แต่แม้จะมีงานวิจัยหลายชิ้นระบุตรงกันว่ารังสียูวีซีสามารถฆ่าเชื้อโรคซาร์สซึ่งอยู่ในตระกูลเดียวกับเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่กกำลังระบาดอยู่นี้ ก็ยังไม่มีงานวิจัยโดยตรงว่ารังสียูวีซีฆ่าเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ได้ และรังสียูวีซียังมีพลังในการทำร้ายผิวมากกว่ารังสียูวีเอและยูวีบีถึง 10 เท่า
องค์การอนามัยโลกว่าอย่างไร
เว็บไซต์ขององค์การอนามัยโลกที่ไขข้อข้องใจเกี่ยวกับความเชื่อผิดๆ ระบุไว้ว่า ไม่ควรนำหลอดไฟที่ปล่อยรังสียูวีมาฆ่าเชื้อบนมือผิวส่วนอื่นๆ ของผิวหนัง เนื่องจากรังสียูวีการก่อให้เกิดการระคายเคือง และยังระบุอีกว่าการตากแดดไม่ช่วยฆ่าเชื้อโคโรนาไวรัส
แล้วแสงแดดล่ะ
บทความเรื่องเดียวกันของ BBC บอกว่า แม้จะมีการใช้แสงแดดเป็นตัวฆ่าเชื้อโรคในน้ำดื่ม แต่ปัจจุบันยังไม่มีใครทราบว่าจะต้องใช้เวลาเท่าไรหรือความเข้มของแสงแดดเท่าไรจึงจะฆ่าเชื้อโคโรนาไวรัสได้ อีกทั้งความเข้มข้นของแสงแดดก็แตกต่างกันไปตามเวลา ฤดูกาล สภาพอากาศ และสถานที่ ดังนั้นเราจึงไม่ควรพึ่งพาแสงแดดในการฆ่าเชื้อโคโรนาไวรัส
สอดคล้องกับที่ ปกรัฐ หังสสูต ผู้ช่วยศาสตราจารย์หน่วยไวรัสวิทยาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเผยกับ AFP Fact Check ว่า รังสียูวีที่เข้มข้น ระยะเวลาและระยะห่างที่เพียงพอสามารถฆ่าเชื้อโคโรนาไวรัสได้ แต่ความเข้มข้นระดับนั้นจะเป็นอันตรายกับผิวหนังมนุษย์ ส่วนรังสียูวีขากแสงอาทิตย์ตามธรรมชาติไม่เข้มข้นพอจะฆ่าเชื้อโคโรนาไวรัสได้
ส่วนบทความเรื่อง Can sun exposure kill the novel coronavirus? ของ China Daily ระบุว่า แสงแดดจากดวงอาทิตย์มีอุณหภูมิไม่ถึง 56 องศาเซลเซียสและไม่มีความเข้มข้นพอ จึงไม่สามารถฆ่าเชื้อโคโรนาไวรัสได้
สรุปได้ว่า การออกไปรับแสงแดดนอกจากจะไม่ช่วยฆ่าเชื้อโคโรนาไวรัสแล้ว หากได้รับนานๆ ยังเสี่ยงเกิดการระคายเคืองผิวหนังหรือเสี่ยงเป็นมะเร็งผิวหนังด้วย