ธปท.พร้อมอุ้มหุ้นกู้เอกชนล็อตแรก2แสนล้าน
วันที่ 29 เม.ย. 2563 เวลา 18:58 น.
ธปท. คาดปีนี้หุ้นกู้ครบอายุกว่า 6 แสนล้าน พร้อมใช้กองทุน BSF ดูแลใกล้ชิด
น.ส.วชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า กองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ (BSF) วงเงิน 4 แสนล้านบาท ให้ความยืดหยุ่นแก่บริษัทที่จะมาขอรับความช่วยเหลือจากกองทุน โดยในวันที่มาขอรับความช่วยเหลือ บริษัทสามารถยื่นเพียงประมาณการหุ้นกู้ที่จะออกใหม่ที่ประเมินว่าจะออกขายได้จริง มาเพื่อประกอบการพิจารณาของกองทุน BSF (บริษัทจะต้องยื่นขอรับความช่วยเหลือต่อกองทุนไม่น้อยกว่า 45 วันก่อนหุ้นกู้เดิมครบกำหนด) อย่างไรก็ตาม แม้กองทุน BSF อนุมัติให้ความช่วยเหลือแล้ว แต่บริษัทไม่สามารถออกหุ้นกู้ได้ตามที่ประเมินไว้ กองทุน BSF อาจพิจารณาทบทวนการให้ความช่วยเหลือ
สำหรับสถานการณ์การออกตราสารหนี้ในช่วงเดือนมี.ค. และ เม.ย. ที่ผ่านมาถือว่ายังมีระดับใกล้เคียงกับในเดือนก่อนๆ แต่ผู้ออกตราสารหนี้ส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่มี credit rating อยู่ในกลุ่ม A- ขึ้นไป ขณะที่กลุ่ม credit rating BBB+ ลงมามีการออกตราสารหนี้ลดลง เนื่องจากนักลงทุนบางส่วนมีความกังวลในฐานะการดำเนินงานของบางบริษัท ทำให้บางบริษัทไม่สามารถระดมทุนได้เต็มจำนวน อย่างไรก็ดี หลังจากที่มีการประกาศมาตรการกองทุน BSF นักลงทุนมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นสะท้อนจากอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ภาคเอกชนที่ซื้อขายในตลาดรองมีความผันผวนลดลง
ขณะที่ ในเดือน พ.ค. และ มิ.ย. มีหุ้นกู้ครบกำหนดรวมกันประมาณ 200,000 ล้านบาท โดยเป็นหุ้นกู้ที่มี credit rating สูงกว่า A- ขึ้นไป ประมาณ 68% ของหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดทั้งหมด และเป็นกลุ่ม BBB+ ถึงBBB- ประมาณ 22% ซึ่ง ธปท. จะมีการติดตามสถานการณ์ตลาดตราสารหนี้จะการ rollover ของหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดอย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ หุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในช่วงเดือน พ.ค. – ธ.ค. 2563 รวมทุกประเภทธุรกิจ ประมาณ 670,000 ล้านบาท แยกประเภทธุรกิจหลักๆ ได้ดังนี้ ธนาคารและสถาบันการเงิน 220,000 ล้านบาท อสังหาริมทรัพย์ 115,000 ล้านบาท, อาหาร 65,000 ล้านบาท และ พลังงาน 59,000 ล้านบาท เป็นต้น ทั้งนี้แนวโน้มต้นทุนการออกหุ้นกู้มีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นจากผลประกอบการของบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ประกอบกับความต้องการลงทุนของนักลงทุนบางกลุ่มอาจปรับลดลง เช่น กองทุนประกันสังคม เนื่องจากมีภาระค่าใช้จ่ายในการชดเชยการว่างงาน หรือประชาชนทั่วไป ที่อาจมีรายได้ลดลง ส่งผลให้มีเงินออมลดลง
“แม้ว่าขนาดของกองทุนที่ตั้งไว้จะมีขนาด 400,000 ล้านบาท แต่ในเบื้องต้นคาดว่าความต้องการใช้เงินกองทุนจะไม่ได้สูงมาก เนื่องจากหลายบริษัทยังสามารถระดมทุนได้เอง ซึ่งหากระดมทุนจากตลาดตราสารหนี้ได้ไม่ครบทั้งจำนวน หลายบริษัทก็ยังมีช่องทางในการกู้เงินจากสถาบันการเงินอยู่ กองทุน BSF จึงน่าจะเป็นช่องทางสุดท้าย (last resort) ที่บริษัทจะเลือก เนื่องจากต้นทุนในการกู้ยืมจากกองทุน BSF จะสูงกว่าที่บริษัทจัดหาด้วยตัวเอง” น.ส.วชิรา กล่าว น.ส.วชิรา กล่าวว่า คาดว่าความต้องการในการระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนจะยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ภายใต้ความผันผวนจากเหตุการณ์ COVID-19 อาจส่งผลให้บางบริษัทไม่สามารถระดมทุนจากตลาดนี้ได้เหมือนช่วงก่อนเหตุการณ์ COVID-19 แต่หากในอนาคตสถานการณ์ COVID-19 ดีขึ้น ธุรกิจต่างๆกลับมาดำเนินการได้ตามปกติ คาดว่าสถานการณ์การระดมทุนจะปรับดีขึ้นตามลำดับ
นอกจากนี้ ตามประกาศคณะกรรมการกำกับกองทุนแล้ว หากบริษัทไม่สามารถจัดหาเงินทุนจากแหล่งอื่นได้อย่างน้อย 50% จะไม่สามารถยื่นขอรับความช่วยเหลือจากกองทุน BSF ได้ อย่างไรก็ดีบริษัทที่ยอดคงค้างตราสารหนี้เดิมที่ครบกำหนดสูง มักจะเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มี credit rating ดี ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาบริษัทในกลุ่มนี้ยังมีความสามารถระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ได้ อีกทั้งบริษัทเหล่านั้นมักมีช่องทางในการจัดหาเงินทุนผ่านสถาบันการเงินอีกทางหนึ่ง
สำหรับ การพิจารณาให้ความช่วยเหลือของกองทุน BSF ต้องเป็นไปตามเงื่อนไข คือ
1) ต้องมีตราสารหนี้เดิมครบกำหนดและต้องการ rollover
2) ต้องจัดหาเงินทุนจากแหล่งอื่นให้ได้อย่างน้อย 50% ซึ่งประกอบด้วย
2.1) จะต้องออกหุ้นกู้ใหม่ให้แก่ประชาชนทั่วไปอย่างน้อย 20% และ
2.2) จะต้องจัดหาเงินทุนจากสถาบันการเงินอย่างน้อย 20%
3) บริษัทจะต้องเป็นบริษัทที่มีผลการดำเนินงานที่ดีและมีความสามารถในการชำระหนี้ โดยได้รับการจัดอันดับ credit rating ตั้งแต่ BBB- ขึ้นไป ซึ่งในกรณีที่ออกหุ้นกู้ 2,000 ล้านบาท เพื่อ rollover ที่ครบกำหนด 5,000 ล้านบาท จะถือว่าผ่านเงื่อนไขข้อ 2.1 เพียงข้อเดียว ซึ่งหากบริษัทสามารถผ่านเงื่อนไขข้ออื่นๆได้ครบถ้วน ก็จะเข้าข่ายที่จะได้รับความช่วยเหลือจากกองทุน BSF ได้
น.ส.วชิรา กล่าวว่า กรณีที่ พ.ร.ก. BSF มาตรา 20 กำหนดว่า ถ้าการไปช่วยซื้อหุ้นกู้เอกชนตาม พ.ร.ก. นี้แล้ว ถ้ามีกำไรเกิดขึ้นให้นำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน แต่ถ้าขาดทุนเสียหายไป ให้กระทรวงการคลังชดเชยให้ ธปท. ไม่เกิน 40,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่ ธปท. คาดว่าจะครอบคลุมความเสียหายที่เกิดขึ้นภายใต้การให้ความช่วยเหลือในวงเงิน 400,000 ล้านบาท ตามวิธีคำนวณจากข้อมูลในอดีต แต่หากความเสียหายเกินกว่า 40,000 ล้านบาท ธปท. จะเป็นผู้รับความเสียหายดังกล่าว ซึ่งคณะกรรมการ ธปท. จึงมีการกำหนดกรอบการบริหารความเสี่ยงของกองทุนและมีกระบวนการรายงานความเสียหายให้คณะกรรมการทราบ