บทเรียนจากโรคระบาดในสมัยโบราณ (1)
วันที่ 30 เม.ย. 2563 เวลา 09:36 น.
โดย…ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร
**********************************
สำหรับตัวผมแล้ว ความคุ้นเคยกับเรื่องโรคระบาดในสมัยโบราณก็คงไม่พ้นโรคระบาดที่เกิดขึ้นที่เอเธนส์ เพราะตอนที่เริ่มเรียนปริญญาเอกภายใต้หัวข้อวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับเพลโต นักปรัชญาการเมืองกรีกโบราณ
ตอนเริ่มอ่านงานของเพลโต หลายอย่างอ่านแล้วก็งงๆไม่เข้าใจ ต้องย้อนกลับไปอ่านข้อเขียนต่างๆที่มาก่อนหน้าข้อเขียนของเพลโต ซึ่งมันก็ช่างมีมากมายเหลือคณา ไม่รู้จะเริ่มตรงไหนดี คนที่เป็นนักคิดก่อนหน้าเพลโตส่วนใหญ่ก็ยังไม่ได้เขียนอะไรไว้ ได้แต่พูดๆ แต่สิ่งที่พวกเขาพูดๆได้รับการถ่ายทอดและบันทึกโดยคนรุ่นหลัง และคนรุ่นหลังที่เขียนบันทึกไว้มากเกี่ยวกับนักคิดกรีกโบราณก่อนเพลโตก็คือ ตัวเพลโตเอง เรื่องมันก็เลยเป็นงูกินหางยังไงชอบกล
ผมก็เลยไปสืบค้นดูว่า มีใครที่เขียนอะไรเป็นชิ้นเป็นอันที่เป็นของตัวเองจริงๆ มันก็มี แต่ก็เป็นพวกบทกวีอะไรแบบนั้น ซึ่งอ่านแล้วก็ยากที่จะเข้าใจ มาไล่ๆดูก็พบว่า มีงานที่เขียนเป็นชิ้นเป็นอันอยู่สองชิ้นก่อนหน้าเพลโต คือเฮโรโดตัส (Herodotus) และธูซิดิดีส (Thucydides)
แต่ระหว่างข้อเขียนของสองคนนี้ ทำไมผมเลือกอ่านของธูซิดิดีสก่อนก็จำเหตุผลไม่ได้ ทั้งๆที่เฮโรโดตัสมาก่อน และธูซิดิดีสเขียนงานของเขาก็เพื่อตำหนิวิธีการเขียนของเฮโรโดตัสด้วย จริงๆแล้วก็น่าจะอ่านเฮโรโดตัสก่อน และค่อยมาอ่านธูซิดิดีส น่าจะดีกว่า แต่อย่างที่บอก ผมก็จำไม่ได้ว่าทำไมถึงอ่านหนังสือของธูซิดิดีสก่อน
สาระสำคัญของหนังสือของธูซิดิดีสก็คือ เล่าเรื่องการทำสงครามระหว่างเอเธนส์กับสปาร์ตา ซึ่งตัวเขาเองก็อยู่ในสงครามนี้ด้วย โดยเป็นทหารของฝ่ายเอเธนส์ แต่การเล่าเรื่องของเขา เขายืนยันไว้ตั้งแต่ส่วนแรกของหนังสือว่า เขาจะเล่าอย่างเป็นกลางไม่เข้าข้างฝ่ายใดและการเล่าของเขานั้น เขาจะต้องมีหลักฐานที่น่าเชื่อถือเท่าที่จะพึงมีได้ และเขาจะไม่ “เต้า” หรือ “จินตนาการ” อะไรไปเอง อะไรที่เป็นความเชื่อที่ไม่มีหลักฐาน เขาก็จะบอกกล่าวไว้ว่าเป็นความเชื่อ และพยายามแยกแยะให้เห็น และถ้าอ่านไปตลอด ความเป็นกลางและความมุ่งมั่นในการต้องมีหลักฐานยืนยัน ทำให้คนอ่านรู้สึกว่า เขาเขียนได้เหมือนคนสมัยใหม่เลย แม้แต่เรื่องเทพเจ้า เขาก็พูดอย่างเป็นกลางจนดูเหมือนว่า เขาไม่เชื่อว่าเทพเจ้ามีอยู่จริง !
ธูซิดิดีส (Thucydides)
ที่อ่านธูซิดิดีสก่อน ก็เป็นไปได้ว่า ตอนโน้น ผมอาจจะหยิบหนังสือของเฮโรโดตัสและทั้งของธูซิดิดีสขึ้นมา และเมื่อลองอ่านขึ้นต้นของหนังสือทั้งสองเล่มแล้ว ผมก็สนใจที่จะอ่านของธูซิดิดีสต่อไปเลยจนจบ เพราะเขาขึ้นต้นไว้น่าสนใจ ด้วยสิ่งที่เขาเขียนตอนขึ้นต้นมันเหมือนกับการเขียนส่วนที่เรียกว่า “ระเบียบวิธีวิจัย” ของการเขียนวิทยานิพนธ์สมัยใหม่ อีกทั้งส่วนขึ้นต้นของเขาก็คือ การตำหนิวิธีการเขียนของเฮโรโดตัสนั่นเอง
ขอแถมไว้หน่อยก่อนจะเข้าประเด็นเรื่องโรคระบาดในสมัยโบราณ แม้นว่าสาระสำคัญของหนังสือของธูซิดิดีสคือเรื่องการทำสงครามระหว่างเอเธนส์กับสปาร์ตา แต่ก่อนจะเล่าถึงสงครามและสาเหตุของการเกิดสงคราม เขาก็ปูพื้นความเป็นมาของผู้คนชาวกรีกที่เริ่มต้นลงหลักปักฐานในบริเวณคาบสมุทรดังกล่าว ไม่ว่าจะที่มาของชาวสปาร์ตาหรือเอเธนส์ ดังนั้น ใครที่สนใจก็น่าจะไปหามาอ่าน ที่แปลเป็นภาษาไทยแล้วก็มี ชื่อหนังสือคือ “สงครามเพโลพอนนีเซียน” (History of the Peloponnesian War) ผู้แปลคือใคร ? ท่านผู้อ่านเดาเท่าไรก็คงไม่ถูก หากเดาอยู่แค่ในวงการนักประวัติศาสตร์หรือรัฐศาสตร์ไทย เพราะผู้แปลคือ พลเรือเอก สำเภา พลธร จัดพิมพ์โดยกองวิชาการ กรมยุทธศึกษา กองทัพเรือ
เรื่องโรคระบาดที่เกิดขึ้นในเอเธนส์ถูกบันทึกไว้ในหนังสือของธูซิดิดีส โรคระบาดที่เกิดขึ้นมาตอนนั้น แน่นอนว่า ไม่มีใครรู้ว่ามันคือโรคอะไรกันแน่ ที่ว่าไม่รู้คือไม่รู้ในแบบวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ เอเธนส์ได้เริ่มเกิดโรคระบาดขึ้นในราวปี 430 ก่อนคริสตกาล ซึ่งเป็นช่วงที่สงครามระหว่างเอเธนส์กับสปาร์ตาได้เริ่มขึ้นไปแล้วปีหนึ่ง ต้องขอบอกไว้เสียก่อนว่า สงครามระหว่างสองอาณาจักรนี้พันตูยืดเยื้อถึง 27 ปี แต่ก็แปลกดีว่า เมื่อถึงคราวประเพณีการแข่งโอลิมปิค คนกรีกก็หยุดรบและหันมาแข่งกีฬาที่ถือว่าเป็นประเพณีอันศักดิ์สิทธิ์ของพวกเขา และถือเป็นการโชว์วิทยายุทธ์ของบรรดาผู้เข้าแข่งขันจากนครรัฐต่างๆด้วย เพราะกีฬาที่แข่งส่วนใหญ่มันสะท้อนพละกำลังความสามารถในการรบทั้งสิ้น
มิน่ารบแบบมีวันหยุดแบบนี้ มันถึงรบกันได้นาน
เวลาจะพูดถึงความรุนแรงของโรคระบาด แน่นอนว่ามักจะมีสองเรื่องที่ต้องรายงานก่อนเลย นั่นคือ หนึ่ง มีคนตายเยอะไหม ? สอง เป็นแล้วทรมานไหม ตายทรมานมากไหม ?
เอาประเด็นแรกก่อนเลยนะครับ ตายมากไหม ? ตามที่คนโบราณเขาบันทึกกันมา เขาว่ามีคนที่เอเธนส์ตายเพราะโรคระบาดนี้อยู่ในราวๆ 70,000-100,000 คน มากไหม ? จะตอบได้ก็ต้องรู้จำนวนประชากรทั้งหมดแหละครับ จำนวนประชากรของเอเธนส์ที่เขากะๆกันไว้ก็อยู่ในราวๆ 400,000 คน เรียกได้ว่าตายไปเกือบหนึ่งในสี่ของประชากรเลย และคำว่าประชากรที่ว่านี้ ไม่ได้หมายถึงพลเมืองเอเธนส์นะครับ แต่เหมารวมคนที่ไม่ได้เป็นพลเมืองด้วย ส่วนคนที่เป็นพลเมืองมีเพียง 40,000 คนเท่านั้น ดังนั้น ถ้าตายเหยียบแสน ส่วนพลเมืองมีแค่สี่หมื่น ก็ถือว่าหายนะเลยทีเดียว
แต่ที่ตายนี่ไม่ใช่ตายในการระบาดคราวเดียวนะครับ ! ไม่รู้ว่าโรคระบาดมันฉลาดหรือคนเอเธนส์โง่ก็ไม่ทราบ เชื้อมันมารอบแรกแล้วก็ทำท่าคล้ายจะหยุด และมันก็กลับมาโจมตีหรือระบาดซ้ำอีกภายในช่วงเวลาไม่ถึงหนึ่งปี เอเธนส์ถูกโรคระบาดโจมตีสองครั้งในช่วงหนึ่งปี ก็เลยตายไปเป็นแสน ย้ำนะครับ หนึ่งในสี่ของประชากร
แต่ที่แน่ๆก็คือ ธูซิดิดีส คนเล่าเรื่องโชคดีไม่ติดเชื้อโรคระบาด และก็หวังว่า ผมในฐานะที่เล่าเรื่องที่เขาเล่ามาอีกทีหนึ่งคงจะยังไม่ติดโรคระบาดโควิด-19 (หรืออาจติดไปแล้วก็ได้ แต่ไม่ออกอาการมากหนัก มีแต่ท้องเสียบ่อยๆ แต่ยังไม่มีไข้)
ต่อมาถามว่า เป็นแล้วทรมานมากไหม และกว่าจะตายนานไหม ? เช่นกันเหมือนกับการตอบว่า ตายหลักแสนมากหรือน้อย ต้องดูจำนวนคนเอเธนส์ในสมัยนั้น ดังนั้น คนที่จะตอบว่าโรคนี้มันทรมานมากน้อยแค่ไหน และกว่าจะตายนานไหม ก็ต้องให้คนเอเธนส์ในสมัยนั้นตอบ เขาจะได้เปรียบเทียบกับความทรมานจากโรคอื่นๆตามบรรทัดฐานความรู้สึกของคนสมัยนั้นเอง
จะถามใครดีถึงจะได้คำตอบแบบที่ว่า ? ก็ต้องธูซิดิดีสไงหละครับ เขาเล่าว่า อาการของโรคจะเริ่มที่หัวก่อนแล้วค่อยๆไปสู่ส่วนที่เหลือของร่างกาย ที่ว่าเริ่มที่หัว ก็คือ ตัวร้อนมีไข้ (เวลาคนไทยพูดว่าตัวร้อน ก็มักจะเอามือแตะที่หน้าผาก ไม่ใช่จับที่ตัว แต่ถ้าพูดว่า หัวร้อน เรามักจะต้องระวังตัว) ต่อมาตาจะแดงอักเสบ เจ็บคอจนขากเสลดเสมหะมีเลือดปน ลมหายใจเหม็น จาม คอแหบ เสียงไม่มี ไอ อาเจียน มีตุ่มหนองแผลขึ้นตามตัว กระหายน้ำอย่างรุนแรง นอนไม่หลับและท้องเสีย
ถามว่าทรมานไหม ? เอาแค่ที่เขาเล่าว่า คนที่ติดเชื้อนี้แล้วมีไข้ ตอนมีไข้นี้ คนจะทรมานมากเพราะปวดหัวเพราะพิษไข้ ความรู้สึกคงไม่ต่างจากคนปัจจุบันที่ตัวร้อนไข้สูงจะทุรนทุราย แต่คนเอเธนส์ที่เป็นไข้ตัวร้อนนี้ ร้อนถึงขนาดทนใส่เสื้อผ้าไม่ไหว ต้องถอดออกหมด ทั้งๆที่เสื้อผ้าสมัยนั้นก็ทำจากผ้าบางๆ และเขาเล่าว่า เวลาท้องเสียจะปวดท้องมาก ไม่ใช่ท้องเสียเฉยๆ และเมื่อนอนหลับทุรนทุรายจากอาการต่างๆที่ว่าไปทั้งหมดนี้ มันคงทรมานอย่างหนัก เพราะถ้าหลับไปได้บ้างหรืองีบไปได้บ้าง อาการทรมานหรือรู้สึกทรมานมันคงจะหยุดไปได้ชั่วคราว
คำถามสุดท้าย กว่าจะตายนานไหม ? ธูซิดิดีสบอกว่า อาการทั้งหมดนี้ที่กล่าวไปจะเกิดขึ้นครบในเวลาประมาณเจ็ดแปดวัน และคนที่ร่างกายแข็งแรง (เขาคงจะหมายถึงพวกนักรบที่แข็งแรงกำยำ มากกว่านักรบทั่วไป เพราะพลเมืองเอเธนส์ต้องเป็นทหารอยู่แล้ว และผู้ชายเท่านั้นถึงจะมีสถานะพลเมืองได้) ก็อยู่ไปได้ไม่เกินสัปดาห์หรือสัปดาห์กว่า ติดเชื้อปั๊บ เจ็ดวันตาย ตายเร็ว น่ากลัวมาก แม้ว่าจะเร็ว แต่สำหรับความทรมานจากอาการที่เกิดขึ้น คนป่วยคงรู้สึกว่ามันช่างเป็นเจ็ดวันที่นานแสนนาน เพราะนอนก็ไม่หลับด้วย ยานอนหลับหรือมอร์ฟีนก็ไม่มีให้ฉีด
ถ้าคุณเป็นคนเอเธนส์ และติดเชื้อที่ว่านี้ และมองไม่เห็นทางรักษา เทพเจ้าก็ไม่เห็นมีทีท่าว่าจะช่วยอะไรได้ บวงสรวงก็แล้ว ทำดีมาตลอดชีวิตด้วย คุณจะทำอย่างไรกับชีวิตคุณ ?
ภาพวาดโรคระบาดเอเธนส์ ที่วาดโดยมิเชล สวีตส์ ในปี ค.ศ. 1652 (Wikimedia)