ผู้ใหญ่ลีกับอาจารย์รอลส์: ปัญหาความยุติธรรม (ตอนที่สอง)
วันที่ 27 เม.ย. 2563 เวลา 11:55 น.
โดย…ไชยันต์ ไชยพร
********************
คราวที่แล้ว ได้กล่าวถึงปัญหาเรื่องความยุติธรรมที่เกิดขึ้นในการประชุมหมู่บ้านของผู้ใหญ่ลี ปัญหาที่ว่านี้คือ จะจัดสรรทรัพยากรต่างๆอย่างไรถึงจะเกิดความเป็นธรรมกับลูกบ้านทุกคน แม้จะกำหนดเป็นเรื่องๆไป ก็ยังไม่ได้ เช่น ถ้าผู้ใหญ่จะยกประเด็นสุขภาพขึ้นมาก่อน ลูกบ้านจำนวนหนึ่งก็เห็นว่า ไม่ใช่ปัญหาเร่งด่วน แต่เห็นว่าปัญหาปากท้องสำคัญกว่า ฯลฯ ไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตกลงกันไม่ได้เลย เพราะแต่ละคนแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสุขภาพร่างกาย สติปัญญา ความถนัด ความสามารถ ความชอบ เพศ ศาสนา ฯลฯ ครั้นผู้ใหญ่จะแบ่งทุกอย่างให้เท่าๆกันในทุกๆเรื่อง ก็อาจจะมีปัญหาได้สองแบบ แบบแรกคือ มีเรื่องที่ลูกบ้านต้องการมากมายเสียจนเมื่อแบ่งทรัพยากร (งบประมาณ) ให้เท่าๆกัน งบในแต่ละหมวดก็มีน้อยเสียจนทำอะไรไม่ค่อยจะได้ตามที่คาดหวัง แบบที่สองคือ มีลูกบ้านจำนวนหนึ่งเห็นว่าการแบ่งแบบนั้นไม่ยุติธรรมเพราะมีบางเรื่องที่พวกเขาเชื่อว่ามีความชอบธรรมที่จะต้องได้มากกว่าเรื่องอื่นๆ
ครั้นจะใช้เสียงส่วนใหญ่ตามที่เชื่อๆกันมาว่าเป็นหนทางที่ยุติธรรมที่สุด ก็จะพบว่าลูกบ้านข้างน้อยจำนวนหนึ่งก็จะไม่พอใจและยังคงมีความเดือดร้อนอยู่ ผู้ใหญ่ลีเลยปวดหัวเป็นที่สุด แต่โชคดีมีอาจารย์ฝรั่งชื่อ จอห์น รอลส์ (ต่อไปนี้จะเรียกว่าอาจารย์รอน) จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้เสนอทางออกให้ นั่นคือ อุบายที่เขาเรียกว่า “ม่านแห่งความไม่รู้” และ “การกลับไปที่จุดก่อนจะมีสังคม” โดยขอให้ท่านผู้ใหญ่ลองบอกให้ลูกบ้านแต่ละคนสมมุติว่า ยังไม่เกิด แต่เป็นจิตอยู่และยังไม่รู้ว่าถ้าเกิดมาแล้วจะมีสุขภาพร่างกายสติปัญญา ความถนัดความสามารถอย่างไร จะมีความชอบอะไร ฯลฯ ที่เป็นคุณสมบัติของคนเราตอนที่เกิดมาอยู่ในโลกในสังคมแล้ว เพราะถ้าลองให้ลูกบ้านตัวเป็นๆขณะนี้ตัดสินใจในการจัดสรรทรัพยากร ต่างคนก็ต่างจะเรียกร้องไปตาม “ตัวตน” ของตัวเอง ดังนั้น ถ้าสมมุติว่ายังไม่มี “ตัวตน” ดูซิว่า ผลที่แต่ละคนคิดจะออกมาเป็นยังไง เมื่อตอนเป็นจิตก็มีจิตของตัวเอง ไม่ต้องคิดเผื่อคนอื่น ถ้าจะคิดอะไรก็คิดได้แต่สำหรับตัวเองเท่านั้น หลังจากที่บทความคราวที่แล้วแพร่ออกไป ก็มีผู้อ่านส่งข้อเขียนกลับมาให้ผม ซึ่งผมจะขอนำมาเสนอแบ่งปันกันดู (ผู้อ่านที่ว่านี้เป็นใคร ไว้เฉลยคราวหน้า)
“ลูกบ้านผู้ใหญ่ลีกับอาจารย์รอลส์: ปัญหาความยุติธรรม
หลังจากที่ผมได้อ่านบทความเรื่อง “ผู้ใหญ่ลีกับอาจารย์รอลส์: ปัญหาความยุติธรรม” (ตอนที่ 1) โดย ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ได้ทิ้งโจทย์เอาไว้ว่า “…ท่านผู้อ่านจะลองสมมติตนเองแบบที่อาจารย์รอลส์ออกอุบายให้ผู้ใหญ่บอกให้ลูกบ้านสมมติตัวเองดูก็ได้ แล้วลองมาเทียบกันดูว่าตรงกับลูกบ้านผู้ใหญ่ลีไหม และคนในหมู่บ้านจะคิดเผื่อสถานการณ์โรคระบาดไว้ด้วยหรือเปล่า?”
ผมก็ลองสมมติตนเองเป็นลูกบ้าน แล้วลองทดลองทางความคิดตามอุบายม่านแห่งความไม่รู้ของผู้ใหญ่ตามคำแนะนำของอาจารย์รอลส์ดู ผมลองสมมติตัวเองว่าเป็นลูกบ้านที่ยังไม่รู้ว่าจะเกิดมาฉลาดหรือโง่ ตัวโตหรือตัวเล็ก เป็นเจ๊กหรือเป็นแขก แดกเก่งหรือแดกน้อย ชอบอ้อยหรือชอบทุเรียน อ่านเก่งหรือเปล่า ชอบเหล้าหรือชอบฟังเทศน์ เพศหญิงหรือเพศชาย หรือไม่เอาทั้งสอง หรือพูดง่ายๆ ว่า ผมลองสมมติตัวเองตั้งแต่เป็นวิญญาณที่มีเหตุมีผล จุดตั้งต้นของผมคือ เริ่มสมมติตนเองเป็นวิญญาณก่อนที่จะลงมาเกิด
ก่อนเกิด
ก่อนเกิดวิญญาณของผมมีวิธีคิดว่า การบอกว่าจะไม่เลือกอะไรคงจะง่ายกว่าเลือกอะไรอย่างแน่นอน ดังนั้น อย่างแรกที่ผมจะไม่เลือก คือ การไม่มีความช่วยเหลือใดๆ ในหมู่บ้านเลย ไม่ว่าจะเป็นด้านการทำมาหากิน การศึกษา ค่ารักษาพยาบาลในหมู่บ้าน เพราะถ้าสมมติให้ผมในฐานะลูกบ้านคนนึง ที่ยังเป็นวิญญาณที่ยังไม่มาเกิด ผมก็ไม่รู้ว่าจะเกิดมาเป็นคนรวยหรือคนจน ถ้าเกิดมารวย ผมก็สบายไป แต่ถ้าเกิดมาจนล่ะ ผมซวยแน่ การไม่มีความช่วยเหลือใดๆ ในหมู่บ้านเลย ผมอาจจะเผชิญชีวิตอย่างยากลำบาก และอดตายได้ ผมจึงมีความเสี่ยงเหลือเกินที่จะไม่มีหลักประกันใดๆ ก่อนที่จะจุติลงมาเกิดในหมู่บ้านแห่งนี้
หลังเกิด
หลักจากเกิดมาลืมตาดูโลก อีกอย่างที่ผมและลูกบ้านคนอื่นๆ ที่จะไม่เลือกในที่ประชุม คือ ไม่เลือกเอาความช่วยเหลือตามความต้องการของคนส่วนใหญ่อย่างแน่นอน เช่น ในเรื่องอาหารการกินในหมู่บ้าน สมมติว่า ถ้าคนในหมู่บ้านมีคนจีนมากกว่าเป็นคนไทย ผมอาจจะได้กินอาหารจีนแทนอาหารไทยอย่างแน่นอน หรือในเรื่องกิจกรรมทางศาสนา สมมติว่าคนในหมู่บ้านนับถือพุทธเป็นส่วนใหญ่ แต่ผมนับถือศาสนาอื่น ผมคงได้ฟังรายการเทศน์ออนไลน์ของพระสงฆ์ในช่วงกักตัวอยู่บ้านในช่วง Covid – 19 อย่างแน่นอน
ดังนั้นจุดเริ่มต้นที่ผมและลูกบ้านคนอื่นๆ จะเลือกจะเลือกบนฐานคิดที่ “Play safe” และอาจจะคิดไปในทางร้าย และคิดหามาตรการป้องกันเอาไว้ก่อน และมาตรการป้องกันที่พวกเราลูกบ้านคิดตรงกันและอยากให้ผู้ใหญ่ให้ในสิ่งที่พวกเราควรจะได้รับ คือ ในหมู่บ้านจะต้องมี “สิทธิเสรีภาพขึ้นพื้นฐาน” ให้พวกเราก่อนเพราะหลังมาเกิดแล้ว เราคงไม่อยากจะเกิดมาเป็นคนส่วนน้อยในหมู่บ้านแล้วโดนเสียงส่วนใหญ่บังคับ แล้วยิ่งถ้าเกิดวิกฤตอะไรเกิดขึ้นในหมู่บ้าน แล้วคนในหมู่บ้านทำตามเสียงส่วนใหญ่ พวกเราเป็นเสียงส่วนน้อยก็ขาดเสรีภาพทันที
ข้อที่เราเห็นตรงกันอีกประการ คือ ในหมู่บ้านต้องมีความช่วยเหลือกันทางสังคมและเศรษฐกิจเพราะเมื่อผมและลูกบ้านทุกๆ คนไม่รู้ว่าจะเกิดมาอยู่ในหมู่บ้านเป็นคนรวยหรือจน ดังนั้นเพื่อป้องกันความเสี่ยง ผู้ใหญ่บ้านก็ควรจะมีความช่วยเหลือให้แก่คนที่ควรจะได้รับ นั่นคือ สมาชิกในหมู่บ้านที่เป็นผู้ด้อยโอกาส เพียงเท่านี้ผู้ใหญ่ก็ไม่ต้องจัดสรรความช่วยเหลือให้ทุกๆ คนๆ อย่างเท่าๆ กันแล้วเพราะจะเป็นการไม่ยุติธรรมแก่คนรวยที่ได้รับความช่วยเหลือเท่ากับคนจน หรือตัวอย่างง่ายๆ ว่า ให้ความช่วยเหลือด้านอาหารในปริมาณที่คนกินมากกินเท่ากับคนที่กินน้อย ก็จะไม่ยุติธรรมกับคนที่กินมากเพราะกินไม่อิ่ม ดังนั้นความช่วยเหลือที่ควรจะช่วย ก็ควรช่วยหรือปฏิบัติต่อสมาชิกในหมู่บ้านอย่างแตกต่างกัน
ที่นี้คนในหมู่บ้านจะคิดถึงสถานการณ์โควิดไว้ด้วยหรือเปล่า ?
ผมในฐานะลูกบ้านคนนึ่ง ผมก็คิดว่าลูกบ้านคนอื่นๆ คงคิดเผื่ออย่างแน่นอนเพราะการลงมาจุติเกิดบนโลกมนุษย์โดยไม่มีหลักประกันใดๆ เลยที่เราจะรู้ได้ว่า เราจะเกิดเป็นคนรวยหรือคนจน หรืออาจพูดได้ว่า เราก็ไม่รู้เลยว่าเราจะการันตีได้เกิดเป็นมนุษย์หรือเปล่า การไม่มีความรู้ใดๆ ในเรื่องเหล่านี้เลย ผมและลูกบ้านคนอื่นๆ ก็คงอยากจะให้มีมาตรการความช่วยเหลือต่างๆ ที่จะออกมาเพื่อปกป้องรักษาชีวิตของพวกเราในหมู่บ้าน เช่น การมีระบบประกันสุขภาพในหมู่บ้าน ในกรณีที่เราไม่รู้ว่าจะมีเหตุเภทภัยอะไรเกิดขึ้นในหมู่บ้าน
แล้วยิ่งเกิดการระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งเป็นภัยคุกคามที่ไม่มีใครจะรู้และคิดได้ว่ามันจะเกิดขึ้นมา แถมยังมีผลกระทบต่อการมาเกิดบนโลกของพวกเรา ผู้ใหญ่บ้านก็ควรจะมีมาตรการ หรือความช่วยเหลือต่างๆ ที่จะจัดหามาให้ในสิ่งที่พวกเราควรจะได้รับในช่วงที่เกิดโรคระบาดเช่นนี้ เช่น หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ เงินเยียวยา แต่การแจกจ่ายนั้น ผู้ใหญ่บ้านควรแจกจ่ายให้กับชาวบ้านที่เขาควรจะได้รับ เช่น คนยากจน คนพิการ ทั้งนี้มีจุดมุ่งหมายคือ ให้เพื่อให้เขาได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ยิ่งตอนนี้โควิดระบาด บรรดาธุรกิจต่างๆ ทั้งร้านอาหาร ห้างสรรถสินค้า โรงแรมที่พักต้องปิดตัวชั่วคราว คนที่ได้รับผลกระทบมากคือ กลุ่มลูกจ้าง พนักงานห้างสรรพสินค้าก็ต้องหยุดงานและกลับมาที่หมู่บ้าน ส่วนคนที่ต้องหยุดงานอยู่ในหมู่บ้าน ต้อง “Work From Home” เขาอาจถูกลดเงินเดือน แต่รายจ่ายอาจเท่าเดิม ผู้ใหญ่บ้านอาจให้ความช่วยเหลือค่าไฟ ค่าน้ำเพื่อบรรเทาค่าใช้จ่ายที่ต้องอยู่บ้านของคนกลุ่มนี้
จากที่พวกเราในฐานะลูกบ้านของผู้ใหญ่ลีได้ร่วมกันประชุมกัน พวกเราก็ได้ข้อตกลงการวางกฎหมู่บ้าน ซึ่งไม่น่าแตกต่างขัดแย้งกันจนสร้างความปวดหัวให้ผู้ใหญ่ลี คือ ในหมู่บ้านของผู้ใหญ่ลีควรให้ “สิทธิเสรีภาพขึ้นพื้นฐาน” กับ “การเยียวยาช่วยเหลือกับสมาชิก” ที่ด้อยโอกาสในหมู่บ้าน เพียงเท่านี้ทั้งผู้ใหญ่ และลูกบ้านก็สามารถวางกติกาเพื่อให้ได้มาซึ่งความยุติธรรมสำหรับตนเองและเป็นประโยชน์กับลูกบ้านคนอื่นๆ ได้แล้ว
สุดท้ายนี้ ลูกบ้านผู้ใหญ่ลีหวังว่าข้อสมมตินี้พอจะตรงกับคำตอบของท่านอาจารย์บ้างนะครับ” ฟังแล้ว ผมมีคำถามต่อว่า แล้ว “จิต” จะคิดเผื่อไหมว่า ถ้าบังเอิญเกิดมารวย เก่ง โชคดี อะไรๆสารพัด ร่ำรวย กติกาสังคมที่เป็นธรรมสำหรับคนเก่งรวยโชคดี ควรเป็นอย่างไร ? เพราะเท่าที่พูดมานี้ ดูเหมือนจะเป็นเรื่องของความซวยเป็นหลัก ! และคราวหน้ามาดูกันว่า ลุกบ้านคนอื่นๆของท่านผู้ใหญ่จะคิดยังไง ?!