10 เรื่องที่ต้องรู้ก่อนเอาชีวิตเข้าสู้กับวิกฤตเศรษฐกิจโลก
วันที่ 16 เม.ย. 2563 เวลา 21:38 น.
วิเคราะห์บทเรียนจากวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำเมื่อ90ปีก่อนเพื่อที่จะรับมือกับวิกฤตที่คล้ายคลึงกันในวันนี้
1. กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ส่งสัญญาณมาแล้วว่าตอนนี้โลกของเรากำลังจะพบกับวิกฤตเศรษฐกิจที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก (Great Depression) เมื่อทศวรรษที่ 1930s และเตือนให้อย่าได้ซ้ำรอยความผิดพลาดยุคเศรษฐกิจตกต่ำด้วยการหยุดกระตุ้นเศรษฐกิจเร็วเกินไป เพราะเมื่อ 90 ปีก่อนการถอนมาตรการกระตุ้นเร็วเกินไปทำให้วิกฤตยืดเยื้อ พูดง่ายๆ คือ “กินยายังไม่หมดโดสก็เลิกกินเสียก่อน ทำให้เชื้อยิ่งดื้อยา”
2. คำแนะนำนี้เป็นเรื่องเหนือความคาดหมายมาก เพราะแต่ไหนแต่ไรมา IMF กดดันให้รัฐบาลต่างๆ ต้องใช้นโยบายรัดเข็มขัดทางการคลัง (budget austerity) สมัยที่เกิดวิกฤตการเงินเอเชียปี 1997 และวิกฤตการเงินโลกปี 2007 – 2009 IMF ก็บีบให้รัฐบาลหยุดใช้จ่าย หยุดกระตุ้นเศรษฐกิจ และยังบีบให้บางรัฐบาลเปิดเสรีตลาดเพื่อให้เอกชนมาขับเคลื่อนระบบเสียด้วยซ้ำ คนไทยที่ผ่านยุคต้มยำกุ้งย่อมจำกันได้ดี การเปลี่ยนจุดยืนของ IMF แสดงว่าปีนี้หนักจริง และซ้ำรอย 90 ปีก่อน
3. ดังนั้นเราควรเข้าใจผลสะเทือนของ Great Depression เมื่อ 90 ปีก่อนให้ถ่องแท้เพื่อที่จะเตรียมรับมือ สำหรับสาเหตุนั้นคงไม่ต้องพูดถึงกันมากเพราะเงื่อนไขปัจจัยต่างจากตอนนี้ สิ่งที่เหมือนกันคือการพังทลายของตลาดอันเกิดจากการสูญเสียความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผู้บริโภคแบบปัจจุบันทันด่วน แต่แทนที่ธนาคารกลางสหรัฐจะพยุงสภาพคล่องและลดดอกเบี้ยกลับไม่ยอมทำอะไร ทำให้ตลาดยิ่งขวัญเสีย แทนที่มันจะกลายเป็นภาวะถดถอยตามวัฏจักร (Recession) จึงลุกลามเป็นวิกฤตถดถอย (Depression) และแรงขึ้นจนกลายเป็นวิกฤตถดถอยที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ (Great Depression)
4. ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) เหมือนกับ IMF ก่อนหน้านี้คือคิดจะให้กลไกตลาดขับเคลื่อนด้วยตัวมันเอง คงจะเชื่อว่าเดี๋ยวมันก็ฟื้นเอง (เพราะเชื่อในหลักทุนนิยมเรื่อง “มือที่มองไม่เห็น”) และไม่ยอมใช้นโยบายขาดดุล (เพราะเชื่อในหลักทุนนิยมที่ไม่ต้องการให้รัฐมาแทรกแซงตลาด) ผลก็คือแทนที่โรคเศรษฐกิจจะถูกรักษาแต่เนิ่นๆ มันจึงกลายเป็นหายนะจนต้องแทรกแซงระบบในที่สุด ในเวลาต่อมารัฐบาลของประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดี. รูสเวลท์ เข้าแทรกแซงด้วยการใช้นโยบายขาดดุลมหาศาลเพื่อนำเงินของภาครัฐมากระตุ้นเศรษฐกิจ มาจ้างงาน มาลงทุนแทนภาคเอกชนที่กลายเป็นอัมพาต เรียกว่านโยบาย New Deal
5. New Deal ก็เหมือนกับนโยบายของทุกประเทศในตอนนี้ คือเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ที่ต่างไปคือตอนนี้หลายๆ ประเทศรัฐยังไม่ลงทุนสาธารณูปโภคแบบใหญ่โตเหมือน 90 ปี ก่อน เพราะมันทำไม่ได้ ทุกอย่างในโลกนี้หยุดชะงักเกือบหมด ต่อให้แจกเงินประชาชนความเชื่อมั่นก็ยังไม่กลับมาง่ายๆ เพราะความกลัวโรคระบาดได้บดบังความกระหายที่จะใช้จ่ายของผู้คนไปจนหมด ดังนั้น IMF จึงต้องย้่ำว่า “อย่าเพิ่งรีบถอนกระตุ้น” แต่จะให้ทำจนถึงเมื่อไรนั้น คาดว่าต้องรอให้มีวัคซีนเสียก่อน
6. เมื่อพูดถึงอาการป่วยเรื้อรังของเศรษฐกิจ ตอนที่สหรัฐใช้ New Deal ก็ใช้แบบไม่เต็มที่ทำให้ภาวะถดถอยลากยาวไปจนถึงก่อนเริ่มสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือนานถึง 10 ปี ข้อเท็จจริงนี้ยิ่งตอกย้ำคำเตือนของ IMF ว่าอย่ารีบร้อนถอนมาตรการกระตุ้นทั้งหลายทั้งลดภาษีและแจกเงินสด ลดดอกเบี้ย อัดฉีดสภาพคล่องในระบบการเงินการธนาคาร
7. ประชาชนอาจจะรู้สึกหงุดหงิดว่าทำไมจะต้องไปอุ้มภาคการเงินการธนาคาร? “ทำไมต้องอุ้มนายทุน?” และ “ทำไมต้องอุ้มคนรวย?” นั่นก็เพราะถ้ามันล้มขึ้นมามันจะทำให้ธุรกิจอื่นๆ พังพินาศไปแด้วยเหมือนโดมิโน เพราะภาคการเงินคือเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงธุรกิจและเป็นเครื่องช่วยหายใจของลูกหนี้ซื้อบ้าน ซื้อรถ และทุกอย่างใน “ชีวิตหนี้” ของคนธรรมดาอย่างเราๆ หากปล่อยให้ธนนาคารล้มมันจะเกิดสิ่งที่เรียกว่า Bank run หรือการแห่ถอนเงิน ในวิฤตเมื่อ 90 ปีก่อนเกิดการแห่ถอนเงินจนทำให้แบงก์ล้ม ถือเป็นความเสียหายที่รุนแรงที่สุดในตอนนั้น ดังนั้น “อย่าให้แบงก์ล้ม”
8. สำหรับประชาชนที่ต้องตกงานกระทันหัน สภาพตอนนี้เริ่มคล้ายเมื่อ 90 ปีก่อน คนที่หมดหนทางเริ่มฆ่าตัวตายและต้องไปรอต่อคิวรับอาหารฟรี เพื่อหลีกเลี่ยงหายนะในตอนนั้นรัฐบาลจะต้องแจกเงินพยุงไปก่อน เพราะการกระตุ้นการจ้างงานเป็นไปไม่ได้ในช่วงเวลาปิดเมือง หลังจากนั้นให้เร่งผลิควัคซีนหรือมาตรการป้องกันโรคที่มีประสิทธิภาพเพื่อที่จะเปิดเมืองให้คนออกไปทำงานได้อีกครั้ง
9. ปัญหาใหญ่ที่รัฐบาลจะต้องเตรียมตัวเตรียมใจคือ เมื่อลดภาษีจะทำให้รัฐบาลมีเงินน้อยลง เงินที่จะมาแจกประชาชนก็จะน้อยลง รัฐบาลสหรัฐในยุคนั้นใช้วิธีการลดงบประมาณด้านการทหารลงอย่างมาก แต่รัฐบาลรูสเวลท์แก้ปัญหาอย่างชาญฉลาด ด้วยการโยกเจ้าหน้าที่ทหารมาดูแลค่ายผู้ตกงาน และผันงบมาสร้างเรือรบกับเครื่องบินรบโดยใช้แรงงานที่ตกงานนั่นเอง และปรากฎว่าอาวุธเหล่านี้ถูกนำไปใช้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เกิดขึ้นตามมาอีก 10 ปีหลังจากนั้น
10. การเกษตรก็ยังคงเป็นคำตอบ เหมือนคำกล่าวที่ว่า “เงินทองเป็นของมายา ข้าวปลาเป็นของจริง” ในยุค New Deal มีการกระตุ้นการทำเกษตรเพื่อให้คนทำนาทำไร่มีรายได้มากขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็ต้องประคองไม่ให้สินค้าเกษตรแพงเกินไปจนประชาชนซื้อไม่ไหว จึงเกิดโครงการตั๋วแลกอาหาร (Food Stamp Program) ที่เกษตรกรสามารถขายผลผลิตในราคาที่สมน้ำสมเนื้อ โดยรัฐบาลซื้อไปเพื่อแจกจ่ายคนตกงานและไม่มีอันจะกิน ซึ่งทุกวันนี้โครงการนี้ก็ยังคงอยู่
รัฐบาลสหรัฐเชื่อว่า “ความมั่งคั่งจะไม่กลับมาจนกว่าภาคเกษตรจะมั่งคั่ง” พวกเขาจึงลงทุนลงแรงกับเรื่องนี้มาก และเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวจริงๆ
บทวิเคราะห์โดย กรกิจ ดิษฐาน